Category Archives: เทคโนโลยี

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชนและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชนและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นการผสมผสานทรัพยากร ภูมิปัญญา และทุนศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่น เข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งในระดับท้องถิ่นและของโลก เพื่อการพัฒนาระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการตนเองของชุมชน ให้ชุมชนและสมาชิกในชุมชน นับแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว การรวมกลุ่มแบบต่างๆ ตลอดจนกลุ่มการรวมตัวเป็นชุมชนความสนใจด้วยประเด็นที่มีร่วมกัน ให้มีความสามารถทางการปฏิบัติและเรียนรู้ เพื่อดำเนินการสิ่งต่างๆอันก่อให้เกิดสุขภาวะสาธารณะของชุมชนดังที่พึงประสงค์ แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆของปัจเจกและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดสัมฤทธิผล ประหยัดและสมเหตุสมผล สร้างโอกาสและเพิ่มพูนศักยภาพเพื่อการบรรลุจุดหมายในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทางเลือกใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลก สอดคล้องและกลมกลืนกับเงื่อนไขความพร้อมในบริบทของชุมชนและความเป็นท้องถิ่น รวมทั้งไม่จำกัดโอกาสของคนในรุ่นอนาคต ทำให้ชุมชนเป็นหน่วยการเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลวัตร อีกทั้งสร้างเสริมความเป็นชุมชน ความเป็นประชาคม ให้มีความเข้มแข็งและจัดการตนเองได้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมภายนอกได้อยู่เสมอ เคลื่อนไหวมิติสังคมวัฒนธรรม การสื่อสาร ความรู้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบสังคมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และสร้างความเป็นพลเมืองประชากรที่ดีให้แก่สังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะของสังคมและเพิ่มโอกาสริเริ่มความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดังที่พึงประสงค์ร่วมกันได้มากยิ่งๆขึ้น

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชน ประกอบด้วยแนวคิด ทฤษฎี ระบบภูมิปัญญา ความรู้ ระบบหนังสือ ระบบข้อมูลและทรัพยากรความรู้เพื่อท้องถิ่น การจัดการอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการจัดการ เครือข่ายการสื่อสารและการแบ่งปันเรียนรู้ เครื่องมือ วิธีการ กลไกและอุปกรณ์เพื่อขยายขีดความสามารถทางปัญญา การเรียนรู้ และการปฏิบัติในการแก้ปัญหาและมุ่งบรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ด้วยการพึ่งศักยภาพของปัจเจกและวิถีปฏิบัติของชุมชนเป็นหลัก ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการผสมผสานภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของชุมชนเข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของประเทศและของโลกให้มีความเหมาะสม มีความสมดุลทั้งมิติความทันสมัยทางรูปแบบและวิถีปฏิบัติบนฐานความรู้พอเพียง ส่งเสริมวัฒนธรรมและระบบภูมิปัญญาของชุมชน สร้างปฏิสัมพันธ์และจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมของปัจเจกและชุมชนกับความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งเงื่อนไขความเป็นท้องถิ่นและกระแสโลกาภิวัตน์

นวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ดำเนินการและปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญ ๓ ประการที่บูรณาการไปด้วยกัน คือ การแก้ปัญหาที่ต้องการได้ การเป็นโอกาสก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ของปัจเจกและชุมชนให้ได้เพิ่มพูนศักยภาพในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทัดเทียมกับความจำเป็นของสังคมอยู่เสมอ และการได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นในชุมชนเพื่อปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆด้วยวิธีคิดและวิธีการใหม่ๆอันก่อให้เกิดผลดี เพิ่มพูนความแตกต่างหลากหลายให้ยืดหยุ่นพอเพียงมากขึ้นต่อการขยายตัวอันซับซ้อนของสังคมและความจำเป็นบนทางเลือกต่างๆ รวมทั้งสร้างความแตกต่างได้มากกว่าวิธีการดังที่เคยใช้และดำเนินการกันอยู่ทั่วไป ทั้งในเชิงระบบปฏิบัติ สิ่งของเครื่องใช้ ปัจจัยการดำเนินชีวิต เทคโนโลยีและวิธีบริหารจัดการทางการปฏิบัติต่างๆของชุมชน เช่น เวทีการเรียนรู้ชุมชน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ชุมชน เครือข่ายสร้างความรู้และคลังความรู้ออนไลน์ สื่อและความรู้เพื่อหลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่น เครือข่ายการท่องเที่ยวเรียนรู้เกษตรกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพการจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาท้องถิ่น เครือข่ายวิจัยและปฏิบัติการสังคมท้องถิ่น หนังสือการ์ตูนท้องถิ่นพัฒนาการอ่าน เหล่านี้เป็นต้น

เทคโนโลยีระบบสารสนเทศชุมชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


การประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เข้ากับวิถีชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลชุมชน การประชาสัมพันธ์ชุมชน สินค้า ภูมิปัญญาผ่าน WEB 2.0 เพื่อสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการช่วยเหลือ เกื้อกูลผ่านอินเทอร์เน็ต และสร้างมูลค่าสินค้า บริการของชุมชนผ่านแนวคิด Social Networking นอกจากนี้ ยังได้เน้นการให้ข้อมูลชุมชนแก่ตลาดโลกผ่านเครื่องมือ Search Engine ที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก ด้วยการนำเสนอข้อมูลชุมชนผ่านสื่อต่าง ได้แก่ เว็บไซต์ชุมชน ภาพ วิดีโอ บทวิจารณ์ ฯลฯ เพื่อเป็นการเปิดตลาดแนวใหม่ให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการใช้ ICT เพื่อเป็นเครื่องมือของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกระแสพระราชดำรัส เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา เป็นหลักการสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้ โดยเริ่มจากความ “เข้าใจ” คือการมีข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาชุมชน “เข้าถึง” คือการเข้าถึงความจริงของปัญหาในชุมชน และ “พัฒนา” คือการที่สามารถพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน ระบบสารสนเทศชุมชน เป็นระบบข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ที่มุ่งเน้นในการสร้างประชาสังคม ให้สามารถบริหารจัดการตนเองแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้ชุมชนสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม

เมื่อพิจารณาระบบสารสนเทศชุมชนในแง่มุมของหลักการ องค์ประกอบ ขั้นตอนการออกแบบการพัฒนาระบบฯ และแนวทางในการประเมินผลแล้วพบว่าระบบสารสนเทศชุมชนนั้นก็คือระบบสารสนเทศแบบหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนโดยชุมชนเอง แต่ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมถึงในชุมชน จึงส่งผลให้ระบบสารสนเทศชุมชนได้ปรับวิธีการทำงานไปสู่ดิจิทัล (Digital) มากขึ้น

ดังนั้น การนำระบบสารสนเทศชุมชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและกระแสพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงเป็นความท้าทายที่จะนำองค์ความรู้หรือศาสตร์ที่ได้ริเริ่มมาจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศ ไทย จึงเกิดคำถามสำคัญว่า ระบบสารสนเทศชุมชนเพื่อการพัฒนายั่งยืนในบริบทของสังคมไทยนั้นควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร? เป็นคำถามที่นักวิจัยทางด้านสารสนเทศ นักวางแผน และประชาชนในชุมชนควรร่วมกันหาคำตอบ

ความร่วมมือกันในการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน

การพัฒนาเศรษฐกิจ แม้จะให้ความสำคัญทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติในช่วงหลังๆ แต่จุดเน้นในทางปฏิบัติก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้มีผลต่อพฤติกรรม และค่านิยมของประชาชน กล่าวคือ มีพฤติกรรมเลียนแบบตะวันตก ทอดทิ้งเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทยหลายอย่าง และมีค่านิยมให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ นี่คือผลผลิตที่เป็นคนหรือประชาชน และปัจจุบันคนเหล่านี้กำลังอยู่ในวัยที่เป็นหลักรับผิดชอบต่อสังคมส่วนใหญ่อยู่ เป็นวัยที่ถ่ายทอดหลักคิดและค่านิยมแก่คนรุ่นต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทยต่อมา คือ สังคมไทยกลายเป็นสังคมตะวันตกมากขึ้นทุกวัน และยังเป็นสังคมตะวันตกที่ยังไม่สมดุล

การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

โดยประชาชนเข้าร่วมมือหรือริเริ่มเอง ถ้าประชาชนไม่รู้จักริเริ่มการใช้เทคนิคกระตุ้นเตือนให้เกิดการริเริ่ม เมื่อประชาชนเข้าร่วมมือกับรัฐจึงทำให้เกิดบทบาทและกรรมวิธีขึ้นอีก เพราะประชาชนต้องปรึกษาหารือกันเอง กำหนดความต้องการ วางโครงการเองแล้วก็ร่วมมือกันเอง แล้วร่วมมือกันปฏิบัติตามโครงการนั้นๆ เพราะว่าวิธีที่ประชาชนคิดทำเอง มีความสำคัญยิ่งกว่าผลงานเสียอีก ตลอดจนความเชื่อมั่นในตนเอง เนื่องจากกำลังที่สำคัญจะสำเร็จได้สมความมุ่งหมาย ก็คือ ประชาชนโดยที่ประชาชนมีความต้องการมีความสามารถอยู่ในตัวประชาชนเอง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ

การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการปรับตัว และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ อันเป็นเป็นจากภาวะโลกร้อน มุ่งเน้นการทำความเข้าใจร่วมของสมาชิกในชุมชนเป้าหมายเกี่ยวกับปัญหา สาเหตุ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อชุมชนของตนเอง โดยการจัดเวทีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นจุดเชื่อมในการสร้างความเข้าใจถึงปัญหาสาเหตุของภาวะโลกร้อน และการพัฒนาแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับวิถีการดำรงชีพ

การพัฒนาชุมชน/ท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

จำเป็นต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคนให้รู้จักตัวเอง รู้ปัญหาของตนเองและชุมชน รู้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนมีการเชื่อมโยงและประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่จนเกิดชุมชนพึ่งตนเองได้ พร้อมทั้งนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เป็นแนวทางการดำเนินงาน เน้นการพึ่งตนเอง โดยสร้างสังคมแห่งการเอื้ออาทรพึ่งพาอาศัยกันนำไปสู่วิธีการคิดและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชน/ท้องถิ่นต่อไป

การใช้เว็บบอร์ดชุมชนในการติดต่อสื่อสาร

การติดต่อสื่อสารครบวงจร หมายถึง การนำเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ที่มีความซับซ้อนหลายๆ เทคโนโลยีมาใช้งานร่วมกัน มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารที่หลากหลายภายในเครือข่ายและระบบเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารแบบไร้รอยต่อและเป็นการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในปัจจุบันกิจกรรมทางธุรกิจมีการใช้งานการติดต่อสื่อสารที่หลากหลายด้วย อุปกรณ์ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Phone) อีเมล์ (Electronic mail) การใช้งานโทรศัพท์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (Telephone software for PCs) การประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Web conferencing) และการส่งข้อความ (Instant Messaging) การใช้เว็บบอร์ด อย่างไรก็ตาม เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทั้งหลายที่ใช้งานในการติดต่อสื่อสารข้างต้นเป็นการ ใช้งานแยกจากกันและใช้วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือการติดต่อสื่อสารที่แตกต่างกัน ทำให้เครือข่ายในการติดต่อสื่อสารมีความซับซ้อนจากการใช้งานอุปกรณ์ที่หลากหลาย

ในอนาคตอันใกล้การเชื่อมต่อหรือการติดต่อสื่อสารด้วย Internet Protocol (IP) จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การใช้งานเครือข่ายการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจร (Unified Communication) ซึ่งการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจรนี้ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า Intelligent Routing กล่าวคือ เป็นการติดต่อสื่อสารไปยังบุคคลที่เหมาะสมทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่ ด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นั้น เช่น ในกรณีที่เราต้องการติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อเราไม่จำเป็นต้องจำว่าเจ้า หน้าที่ฝ่ายจัดซื้อมีเบอร์โทรศัพท์อะไร กรณีที่โทรไปแล้วเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่อยู่ต้องติดต่อที่ไหน ด้วยการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจรและระบบ Intelligent Routing จะใช้ซอฟท์แวร์เป็นตัวค้นหาว่า การติดต่อถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อต้องทำอย่างไร ผู้ใช้งานเพียงแค่ร้องขอการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อไปเท่านั้น ซอฟท์แวร์จะกำหนดรูปแบบในการติดต่อสื่อสารที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้นให้ ด้วยการทำงานที่สามารถรองรับสภาพแวดล้อมที่หลากหลายภายในองค์กรรวมถึงกระบวน การทำงานทำให้การติดต่อสื่อสารแบบครบวงจรช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน สร้างคุณค่าให้กับองค์กรและเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การติดต่อสื่อสารแบบครบวงจรทั้งเสียง ภาพ และข้อมูล ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าประเภทองค์กรเป็นหลัก ในช่วงแรกของการทำตลาดสำหรับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจรนั้น ได้มุ่งเป้าไปที่องค์กรขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์กรข้ามชาติที่มีกิจการสาขา หรือบริษัทลูกในหลายประเทศ ทั้งนี้เพราะการลงทุนเพื่อที่จะบูรณาการรูปแบบการสื่อสารแบบครบวงจรภายใต้ มาตรฐานเดียวกันนั้นค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายที่สูง และผลตอบแทนจากการลงทุนจะเห็นได้ชัดเจนหากมีการต้องติดต่อสื่อสารทางไกลเป็น จำนวนมาก แต่ในปัจจุบันที่ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่น้อยกว่า นอกจากนี้ยังมองกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องเดินทางบ่อยๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลาและความเร็วในการติดต่อ สื่อสารและประสานงานร่วมกันแบบ Real-time อย่างไรก็ดี แม้ว่าอุตสาหกรรมต่างๆจะต้องการ “ความเร็ว” ในการดำเนินงานเพื่อเอาชนะคู่แข่งขัน หากแต่ว่าต้องมีการวางแผนบริหาร “ความเร็ว” นั้นอย่างรอบคอบ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอุตสาหกรรมญี่ปุ่นแห่งหนึ่งมีการนำการติดต่อสื่อสารแบบครบวงจรมาใช้ โดยการเชื่อมการสื่อสารกับผู้ขายวัตถุดิบทำให้ผู้ขายสามารถส่งวัตถุดิบมาได้ ทันต่อความต้องการอย่างรวดเร็ว และสามารถผลิตสินค้าเสร็จภายใน 5 ชั่วโมง แต่เพียงเพราะว่าลูกค้าไม่เชื่อว่าสินค้าที่ผลิตได้ภายใน 5 ชั่วโมงจะมีคุณภาพดีจริง ทำให้บริษัทนี้จำเป็นต้องเก็บสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วไว้นานถึง 1 สัปดาห์ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ว่าทุกอุตสาหกรรมจะนำการติดต่อสื่อสารแบบ ครบวงจรมาผนวกเข้ากับธุรกิจแล้วจะได้รับประโยชน์สูงสุดเสมอไป การบริหารการใช้เทคโนโลยีและเวลาให้เหมาะสมน่าจะเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าและตลาดเป็นหลัก